เทพเด็กหลังม่านงิ้ว

  ลักษณะพิเศษของการแสดงงิ้วนั้น อาจพูดได้ว่าเป็นส่วนผสม ของความเชื่อกับศิลปะการแสดงและดนตรี ซึ่งไม่แตกต่างกับ ความยิ่งใหญ่ในการแสดงโขนของไทยเรา งิ้วไม่ใช่ เรื่องของศิลปะการแสดงเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการพิธีกรรมที่ลึกลับซับ ซ้อนอันเนื่องมาแต่ความเชื่อเข้ามาปนอยู่กับการแสดง ดังนี้
\
             1. ความเชื่อในเรื่องเจ้า ที่จริง เจ้าก็คือ ผีหรือเทพนั่นเอง การนับถือเจ้าของการแสดงงิ้วถือว่าสำคัญมาก คณะงิ้วทุกคณะย่อมมีเจ้าประจำคณะทั้งสิ้น เจ้าตามความเชื่อของสังคมจีน มิได้เกิดจากการจินตนาการ แต่เกิดจากบุคคลที่เคยมีตัวตน ผู้เคยทำคุณงามความดีให้แก่สังคมมาก่อน เมื่อสิ้นชีพไปแล้ว ก็ได้กลายมาอยู่ในฐานะ "เจ้า" คือบรรพบุรุษนั่นเอง ความสำคัญของเจ้าย่อมแตกต่างกันไป เช่น หากเราสังเกต ทางด้านหลังโรงงิ้ว จะต้องมีศาลเจ้าเล็กๆ ตั้งอยู่ คนจีนเขาเรียกว่า "ฉั่งหง่วงส่วย"(องค์แรก) ซึ่ง ฉั่งหง่วงส่วย เป็นชื่อของคนธรรมดาผู้หนึ่ง เคยทำคุณงามความดีไว้มาก แต่ต่อมาได้ทำความผิดกฎมณเฑียรบาลด้วยความพลาดพลั้ง ฮ่องเต้จึงให้ประหาร แต่ประหารสกุลคือ "แซ่" ถือว่าเป็นโทษที่รุนแรงมาก เท่ากับว่าเป็นผู้รักษาสกุลไม่ได้ แต่คนทั่วไปยังคงให้ความเคารพเช่นเดิม ผู้เล่นงิ้วทุกคนถือว่าเป็นบรมครูของงิ้ว เรียกท่านด้วยความเคารพว่า "เหล่าเอี้ย" หมายถึง เจ้าปู่หรือผู้อาวุโสนั่นเอง
 นอกจากนี้ยังมีเจ้าอื่นๆ อีกเช่น กวนอู เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์และมีความสามารถยอดเยี่ยมในเชิงยุทธ ยังมีเจ้า "ไท้จือ" หรือราชโอรสทั้งสาม ที่ชาวคณะงิ้วให้ความเคารพบูชามาก เรียกชื่อไปตามลำดับว่า "ตั่ว หยี่ ซา" โดยทำเป็นตุ๊กตา ๓ ตัว วางเรียงอยู่ในกล่องสีแดง แล้วนำไปติดกับฝาหีบบรรจุเครื่องแต่งตัวใบหนึ่ง ที่เรียกว่า หีบของเจ้าโดยเฉพาะ  ที่จริง ราชโอรสทั้งสาม ก็คือ ราชโอรสของพระเจ้าถังไห่จงแห่งราชวงศ์ถัง ราชโอรสทั้งสามชอบดูงิ้วมาก วันหนึ่งขณะที่กำลังดูงิ้ว ราชโอรสองค์เล็กได้ตกลงมาตาย แสดงว่าที่ดูงิ้วต้องเป็นที่สูง ทำให้ราชโอรสที่เหลืออีก ๒ องค์เศร้าโศกเสียใจมากจนตรอมใจตายในไม่ช้า นอกจากนี้ยังมีเจ้าอื่นๆ อีกหลายองค์ เช่น เจ้าผู้ปราบผีที่เรียกว่า "เจงคุ้ย" หรือ เจ้าแห่งผู้ทำให้เกิดแสงสว่าง เช่น เครื่องปั่นไฟ เป็นต้น

2.จำพวกเครื่องเซ่น จะเน้นไปทางด้านขนมหวานและผลไม้ ไม่นิยมสัตว์ที่มีชีวิต พวกขนมหวานที่จำเป็นต้องมี ได้แก่ ขนมเปี๊ยะกลมใหญ่ (ตั่วหล่าเปี้ย) ขนมที่เป็นสิริมงคล ขนมบัวลอยอย่างจีน (ขนมอี๊) ขนม "หนึงทึ้ง" หรือ "เหม่งทึ้ง" เป็นขนมหวานอย่างหนึ่งของจีน มีลักษณะเป็นแป้งเหนียว ก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้าคลุกด้วยงา รสหวาน นอกจากนี้มีผลไม้ เช่น ส้ม ชาและสุรา ส่วนสิ่งที่มีชีวิตที่นำมาใช้เป็นเครื่องเซ่น เห็นมีแต่ไก่เพียงอย่างเดียว แต่มิได้ฆ่า เพียงแต่นำมาเชือดหงอนเอาเลือดไปป้ายตามเสาโรงงิ้วแล้วปล่อยไป ใครจับได้นำไปเลี้ยงจะให้โชค เพราะเป็นไก่เจ้า
ในวงการงิ้วก็เหมือนวงการอื่นๆที่มีเทพประจำอาชีพตน ซึ่งในฝั่งกรีก-โรมันก็มีความเชื่อเทพผู้อุปถัมภ์อาชีพอยู่เช่นกันในส่วนของแวดวงชาวงิ้วก็จะมีเทพที่นับถือต่างกันไปตามประเภทของงิ้วแต่มีเทพองค์หนึ่งที่งิ้วทุกชนิดให้ความเคารพ นั่นก็คือเทพที่ถูกเรียกว่า "สี่เสิน" (喜神 - = มงคล  = เทพ)



สี่เสิน นอกจากจะเป็นเทพที่นักแสดงงิ้วให้ความเคารพแล้ว ยังจะถูกนำมาแสดงในบทเด็กอ่อนอีกด้วย ในสมัยโบราณกำหนดว่า หน้าเวทีจะนำสี่เสินไปแสดงยังไงก็ได้ แต่เมื่อเข้ามาหลังเวทีต้องวางคว่ำหน้าลง หรือถ้าอยู่ในท่านอนหงายต้องมีผ้าปิดหน้าสี่เสินไว้ สาเหตุเพราะสี่เสินได้รับความเคารพจากทุกคนในคณะ เวลาที่เจอหน้าจึงต้องคารวะทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากจึงกำหนดให้ต้องวางคว่ำหน้าหรือหาผ้ามาปิดหน้าไว้ เท่ากับว่าต่างมองไม่เห็นกันและกัน ถึงคารวะสี่เสินก็มองไม่เห็นอยู่ดี
สาเหตุที่สี่เสินได้รับความเคารพจากนักแสดงงิ้วมีคำอธิบายไว้ 3 แบบ
แบบที่หนึ่ง:ในสมัยโบราณ คณะงิ้วนอกจากจะแสดงในโรงแล้ว ยังมีการรับจ้างแสดงในงานมงคลที่เรียกว่า ถังฮุ่ยซี่ (堂会ซึ่งเป็นงานที่จะได้รับค่าตอบแทนมาก และงานส่วนมากที่จ้างไปก็มักจะเป็นงานเลี้ยงครบเดือนของเด็กอ่อน ซึ่งเกี่ยวกับเด็ก งิ้วที่เล่นก็มักจะเลือกเรื่องที่มีเด็กเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อมีบทเด็กก็ต้องใช้ตุ๊กตาเด็กมาทำการแสดง จึงถือว่าตุ๊กตาเด็ กหรือสี่เสินนี่เองที่เป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนอาชีพให้พวกเขามีงานกันได้ตลอดทั้งปี
แบบที่สอง:ตามประสบการณ์ของบรรดานักแสดงงิ้วในสมัยก่อน หากฝึกหัดงิ้วเป็นระยะเวลานานเท่าไรก็ยังไม่สามารถร้องได้ แต่พอคืนนึงเกิดฝันว่ามีเด็กมาสอนให้และตื่นมาก็พลันเข้าใจในสิ่งที่เรียนมาทั้งหมดได้ทันที ก็ว่ากันว่าเด็กที่มาสอนในฝันนั้นก็คือสี่เสินเทพผู้อุปถัมภ์อาชีพตนได้มาทำการสอนด้วยตัวเอง จึงทำให้สามารถร้องหรือแสดงได้ภายในระยะเวลาชั่วข้ามคืน
แบบที่สาม:ตามตำนานที่นักแสดงรุ่นเก่าๆเล่ากันต่อมาว่าสี่เสินคือรัชทายาทของถังหมิงหวง(ผู้เป็นต้นกำเนิดการแสดงงิ้ว)เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งในขณะที่มีงานในวังฮองเฮาก็วุ่นวายอยู่กับการรับรองจึงนำรัชทายาทไปวางนอนในหีบเสื้อผ้างิ้วแต่สุดท้ายเกิดความผิดพลาดจึงขาดอากาศและสิ้นใจอยู่ในนั้นถังหมิงหวงจึงแต่งตั้งให้รัชทายาทองค์นี้เป็นเทพผู้อุปถัมภ์งิ้วและถือเป็นศิษย์พี่ใหญ่ของงิ้วทุกๆคณะ(ในงิ้วทางใต้บางชนิดรวมถึงงิ้วแต้จิ๋วก็เรียกเทพเด็กองค์นี้ว่า ไท้จื้อ ที่แปลว่า รัชทายาทเช่นกัน)
สี่เสินได้รับความเคารพจากทุกคนในคณะและในยามที่ไม่ใช้งานก็จะถูกเก็บคว่ำหน้าอยู่ในหีบใหญ่ที่ใช้เก็บชุดบุ๋น แท้จริงเพื่อสะดวกในการหยิบใช้ เพราะบทที่มีเด็กส่วนมากก็ใช้กับตัวละครฝ่ายบุ๋น และข้อห้ามอีกข้อที่สำคัญในสมัยก่อนก็คือห้ามนั่งบนหีบใหญ่ เพราะในหีบมีสี่เสินนอนอยู่ จะเห็นได้ว่านักแสดงงิ้วให้ความเคารพเทพองค์นี้เป็นอย่างมาก มากจนเกิดเป็นความหน่ายที่ต้องแสดงความเคารพทุกครั้งที่เห็นหน้าจนเกิดเป็นข้อห้ามที่ต่อมาก็ถูกยกเลิกหลังจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่งิ้วในต่างประเทศเช่นไทย,มาเลเซีย ฯลฯ ยังคงให้ความเคารพเช่นเดิม โดยเรียกว่า "ไท้จื้อ" ตามตำนานแบบที่สามนั่นเอง
                                                   ที่มา : ดนุพล ศิริตรานนท์ (แตง)
                                                  ที่มา : วารสารเพลงดนตรี ปีที่ ฉบับที่ 2 เดือนธันวาคม 2544



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น