ความเป็นมาของงิ้วแต้จิ๋ว

 งิ้วแต้จิ๋วซึ่งเป็นงิ้วท้องถิ่น ชนิดหนึ่งก็เช่นเดียวกัน กว่าที่จะเป็น งิ้วแต้จิ๋วที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวก็ต้องใช้ระยะเวลาเนิ่นนาน เฉกเช่นเดียวกับงิ้วอื่นๆ  งิ้วแต้จิ๋วเป็นงิ้วที่เกิดขึ้นที่เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ราวตอนปลายราชวงศ์หมิง(พ.ศ.1911-2188)  มีชื่อเรียกงิ้วชนิดนี้หลายชื่อ เช่น เตี่ยอิมหี่  (潮音 / ใช้ภาษาแต้จิ๋ว**)  แป๊ะหยี่หี่ (白字 : งิ้วแป๊ะยี่ /ใช้สำเนียงถิ่น **) ท่งจือปัง หรือที่ คนไทย เรียกว่า  งิ้วเด็ก (พระสันทัดอักษรสาร 2515:39)
  งิ้วต่างถิ่นชนิดต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่องิ้วแต้จิ๋ว คือ
1.      งิ้วเจี่ยอิม (正音 : เจี่ยอิมหี่ /ใช้ภาษาราชการในสมัยโบราณ** )  หรือ อีกชื่อที่รู้จักกันทั่วไป คือ หน่ำหี่ () เป็นงิ้ว ทางตอนใต้ที่เกิดขึ้นทางตะวันออกแถบมณฑลเจ๋อเจียง จากนั้นได้แพร่กระจายมาทางตอนใต้ของมณฑลเกียงสี เข้าสู่ตอนใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน ผ่านอำเภอเจียวอาน และตุงซานเข้าสู่เมืองแต้จิ๋ว
2.      งิ้วไซฉิน (西秦:ไซฉิ่งหี่) งิ้วไซฉิน และระบำกลองดอกไม้ เจริญขึ้นที่มณฑลหูหนัน จากนั้นได้แพร่กระจายผ่านตอนเหนือของมณฑลกวางตุ้ง ผ่านเมืองฮุยหยาง ไฮฟง เข้าสู่เมืองแต้จิ๋ว 
3.      งิ้วงั่วกัง (外江 : งั่วกังหี่)  งิ้วงั่วกัง เจริญขึ้นแถบมณฑลอันฮุย แพร่เข้ามาทางตอนใต้ของเกียงสีผ่านมณฑลฮกเกี้ยนด้านตะวันตกผ่านหมู่บ้านเกียเอ้งจิวของขาวจีนแคะแล้วเข้าสู่เมืองแต้จิ๋ว
                  งิ้วทั้ง 3 ชนิดได้เข้าสู่เมืองแต้จิ๋วตั้งแต่ตอนปลายราชวงศ์หมิง ได้ให้อิทธิพลต่อการละเล่นพื้นบ้านจนเกิดเป็นงิ้วแต้จิ๋วในที่สุด โดยเฉพาะงิ้วเจี่ยอิม (正音) เป็นงิ้วชนิดแรกที่แพร่เข้าสู่เมืองแต้จิ๋ว และได้รับความนิยมกว่างิ้วอื่นที่เข้าไปภายหลัง  แต่งิ้วเจี่ยอิม (正音ใช้ภาษากลาง (官話: กัวอ่วย ) ซึ่งเป็นภาษาราชการจึงจำกัดผู้ชมเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาเท่านั้น การละเล่นพื้นเมืองซึ่งรุ่งเรืองอยู่ได้ดัดแปลง งิ้วเจี่ยอิม  (正音) มาพูดภาษาแต้จิ๋ว และปรับรูปแบบต่างๆ เมื่องิ้วเจี่ยอิม (正音) เสื่อมลง การละเล่นแบบใหม่นี้ได้รับ ความนิยม และเจริญอย่างเต็มที่

อิทธิพลของการละเล่นชนิดต่างๆ ที่ยังคงปรากฏในงิ้วแต้จิ๋ว
  งานวิจัยของเซียวเอี๋ยวเทียนได้กล่าวถึง ความสัมพันธ์ของงิ้วแต้จิ๋วกับการละเล่นต่างๆ ที่มีอิทธิพลดังนี้
     1) ความสัมพันธ์ของ งิ้วแต้จิ๋ว กับ งิ้วกวงฮี้ถง (戏童 )
     งิ้วกวงฮี้ถง (戏童 ) มีลักษณะเฉพาะคือ การใช้เด็กแสดง ตัวแสดงที่สำคัญซึ่งนอกจากตัวตลก ( : ทิ่ว) ตัวหน้าลาย (: เจ๋ง ) ตัวพระเอกมีหนวด (โฮ่วเซ็ง)  ตัวแสดงนอกเหนือจากนั้น ใช้เด็กทั้งหมด งิ้วแต้จิ๋วในระยะเริ่มแรกมีลักษณะเฉพาะ คือ การใช้เด็กแสดงเช่นเดียวกับ งิ้วกวงฮี้ถง (戏童 ) ดังนั้น งิ้วแต้จิ๋วจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่าถ่งจือปังหรือแปลได้ความว่า คณะงิ้วเด็ก เสฐียร โกเศส (2512:169) ได้กล่าวถึง งิ้วชนิดนี้ในเมืองไทยว่า ผู้แสดงเป็นเด็กผู้ชายล้วน และงิ้วชนิดนี้เรียกกันในหมู่คนไทยว่า งิ้วเด็ก
     2) ความสัมพันธ์ของ งิ้วแต้จิ๋ว กับเพลงของพวกอี๋ และพวกตั้น (อี๋เกอ ตั้นเกอ)  
     โดยทั่วไปแล้วทำนองเพลงของพวกอี๋เป็นทำนองโบราณที่ร้องกันต่อๆมา เพลงของพวกตั้นก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ปัจจุบันทำนองเพลงดังกล่าว ยังเป็นที่นิยมร้องกันอยู่ในเมืองแต้จิ๋ว ก่อนหน้าที่งิ้วต่างถิ่นจะแผ่ขยายเข้ามาในเมืองแต้จิ๋วนั้น พวกงิ้วกวงฮี้ถง (戏童 )ต่างก็นิยมร้องเพลงของพวกอี๋ และพวกตั้น ดังนั้น งิ้วแต้จิ๋วในปัจจุบันยังมีเพลงของชาวพื้นเมืองดังกล่าวหลงเหลืออยู่ เช่น งิ้วเรื่อง 桃花过渡  : ถ่อฮวยก้วยโต่ว ** รับจ้างพายเรือข้ามฟากนั้น ทำนองเพลง และจังหวะเป็นแบบฉบับของพวกอี๋อย่างแท้จริง
สำหรับอิทธิพลของเพลงพวกตั้นที่ให้แก่งิ้วแต้จิ๋ว บางท่านกล่าวว่า ที่เด่นชัด น่าจะเป็นลักษณะของการเยื้องกรายของตัวละคร เช่น การเดินหน้า 3 ก้าว ถอยหลัง 3 ก้าว หรือ การหันตัวหมุนตัวในวงที่จำกัด เหล่านี้ เป็นต้น
    3) ความสัมพันธ์ของงิ้วแต้จิ๋วกับ เพลงปักดำนา

   เพลงปักดำนาในยุคหลังนี้ได้รวมเข้ากับ เพลงระบำกลองดอกไม้ของมณฑลหูหนัน ดังนั้น ทำนองเพลงต่างๆ อันได้มาจากเพลงชนิดนี้จึงมีอยู่มาก และยังคงปรากฏใน งิ้วแต้จิ๋ว เช่น ทำนองเพลง จับป่วยจิ้ว โบ่ยจับฮ่วย เป็นต้น  หรือ นอกจากนั้นคำอุทานที่ไม่ค่อยสุภาพ คำหยาบโลนต่างๆ ที่ได้มาจากเพลงระบำกลองดอกไม้ยังปรากฏในเรื่องงิ้วที่ใช้แสดงอยู่ในปัจจุบันงิ้วที่ได้รับอิทธิพลจากการละเล่นชนิดนี้ มักเป็นเรื่องสั้นๆ บางครั้งมีผู้แสดง 2 คน ออกมาร้องเพลงโต้ตอบไปมาเท่านั้น 
  4) ความสัมพันธ์ของงิ้วแต้จิ๋วกับ งิ้วเจี่ยอิม  (正音)

    งิ้วแต้จิ๋วมีความสัมพันธ์กับงิ้วเจี่ยอิม  (正音) มาก อาจถือได้ว่า เป็นวิวัฒนาการขั้นสุดท้ายที่ทำให้กำเนิดงิ้วแต้จิ๋วอย่างสมบูรณ์แบบ จนมีคำกล่าวว่า  งิ้วเจี่ยอิม  (正音) เป็นแม่ผู้ให้กำเนิดงิ้วแต้จิ๋ว อิทธิพลของงิ้วเจี่ยอิม  (正音)  ที่ยังปรากฏในงิ้วแต้จิ๋วนั้น มีอยู่หลายประการด้วยกัน คือ

1.      งิ้วเบิกโรง งิ้วชุดเบิกโรงจะมีชุดโป้ยเซียน ถวายพร พระเจ้าถังไท้จง หรือ เรียกอีกชื่อว่า พระเจ้าหลีซี่มิ้ง (หลี่ซื่อหมิน) ออกมาไล่ผี ชุดนางฟ้าส่งบุตร เมื่อจบจะมีชุดความสุข ภาษาแต้จิ๋ว เรียกว่า ท่วงอี้ ภาษาที่ใช้ร้องในชุดเบิกโรงบางชุดนี้ จะเป็นภาษาจีนภาคกลางที่เรียกว่า กัวอ่วย (官話) ตัวแสดงที่เล่นเป็นตัวหน้าลาย ไม่ว่าจะแสดงงิ้วชุดใด เรื่องใด ภาษาที่ใช้ร้องจะต้องเป็น กัวอ่วย (官話) เสมอ
2.      การปลูกโรงของงิ้วแต้จิ๋วเลียนแบบตามงิ้วเจี่ยอิม (正音)  ดังเช่น หน้าโรงมักแขวนม่านไม้ไผ่ 3 แผง กล่าวกันว่า  การปลูกโรงงิ้ว เช่นนี้ เป็นการเลียนแบบการปลูกโรงงิ้วของสมัยราชวงศ์หยวน (ในที่นี้ หมายถึง การปลูกโรงงิ้วในเมืองจีน โรงงิ้วในเมืองไทย ไม่มีลักษณะเช่นนี้)
3.      การร้องเพลงของผู้แสดงในขณะแสดงที่หน้าโรงนั้น เมื่อร้องถึงคำสุดท้าย ตัวแสดงในโรงจะต้องช่วยร้องคลอเสียงตามไปด้วย การร้องเพลงในลักษณะเช่นนี้ ปรากฎในเพลงปักดำนาของชาวพื้นเมืองแต้จิ๋ว เช่นเดียวกัน
4.      เรื่องที่ใช้แสดงงิ้วถ้าเป็นการแสดงเมื่อ 30-40 ปีก่อน เนื้อเรื่องแสดงมักเลียนแบบตาม งิ้วเจี่ยอิม (正音)  ทั้งหมดซึ่งมักเป็นเรื่องที่ใช้แสดงมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวนบ้าง ราชวงศ์หมิงบ้าง
5.      งิ้วแต้จิ๋วในปัจจุบันยังเรียกตัวแสดงในบทต่างๆเช่นเดียวกับ งิ้วเจี่ยอิม (正音)  เช่น เรียกพระเอกว่า   : เซิง ( เซ็ง) นางเอกว่า   : ตั้น (ตั่ว) ตัวตลกว่า  :  โฉ่ว (ทิ่ว) นอกจากนั้น คำที่ใช้ในบทละคร เช่นคำว่า เอวียนอ้วย (员外 : อ่วงงั่ว) คำแทนชื่อตัวละครชาย ที่มีอายุว่า  老生 :  เล่าฮั่ง หรือ เล่าเซ็ง คำต่างๆ เหล่านี้เป็นคำที่ได้รับอิทธิพลมาจากงิ้วเจี่ยอิม                (正音) ทั้งนั้น เพราะภาษาพูดของชาวแต้จิ๋วไม่มีคำเหล่านี้ 
6.      ในด้านการแต่งกาย งิ้วแต้จิ๋วแต่งตามเครื่องแต่งกายของคนในสมัยราชวงศ์หมิงเช่นเดียวกับ งิ้วเจี่ยอิม (正音

ความเจริญของ งิ้วแต้จิ๋ว
          งิ้วแต้จิ๋วมีวิวัฒนาการมาจากการละเล่นของชาวพื้นเมืองแม้จะมีการดัดแปลงในด้านต่างๆ เพื่อให้ต้องรสนิยมของผู้ชมแล้วก็ตาม เช่น ภาษาที่ใช้ในการขับร้อง และบทสนทนาในการแสดงจะมีสัมผัสบ้าง แต่ก็ไม่ไพเราะ และสละสลวยเช่นเดียวกับ งิ้วเจี่ยอิม (正音)  ผู้ดีมีเงิน  และผู้มีการศึกษา จึงไม่ได้ใส่ใจที่จะอุปถัมภ์ให้งิ้วชนิดนี้เจริญเติบโตขึ้นอย่างเต็มที่ จนกระทั่งถึงสมัยปลายราชวงศ์ชิง ในต้นรัชกาลพระเจ้ากวงสู (ค.ศ.1875-1908) งิ้วแต้จิ๋วจึงได้มีโอกาสรุ่งเรืองขึ้นอย่างเต็มที่ในท้องถิ่นของตน โดยการอุปถัมภ์ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แต่งตระกูลปึง ซึ่งเป็นชาวอำเภอโผวเล้ง (อำเภอหนึ่งของเมืองแต้จิ๋ว) มียศเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ บุคคลผู้นี้มีความชอบต่อราชวงศ์ชิงโดยการปราบกบฏที่มณฑลกวางตุ้ง  และกวางสีลงอย่างราบคาบ จึงเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์แห่งราชวงศ์ชิง พระองค์ทรงให้อำนาจแก่ข้าราชการผู้นี้อย่างเต็มที่ 
         ข้าราชการผู้นี้ และคนในตระกูลปึง ต่างชื่นชอบงิ้วแต้จิ๋วเป็นพิเศษ จึงได้ให้การอุปถัมภ์งิ้วแต้จิ๋วเกือบทุกคณะ เป็นเหตุให้งิ้วแต้จิ๋วเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว หนังสือพิมพ์หลิ่งตงยึเป้า ได้กล่าวถึงความเจริญของงิ้วแต้จิ๋ว ไว้ว่า  ในสมัยนั้นโรงสอนงิ้วของเมืองแต้จิ๋วแบ่งออกเป็น  2  ชนิด คือ สอนงิ้วแต้จิ๋ว และสอนงิ้วงั่วกัง  งิ้วงั่วกัง (外江 ) นั้น นอกจาก 4 คณะใหญ่ๆ แล้ว ไม่มีคณะใดตั้งขึ้นเพิ่มเพื่อสอนงิ้วงั่วกังอีกเลย แต่สำหรับงิ้วแต้จิ๋ว มีโรงสอนงิ้วถึง 200 โรง ไป่ฮูหยิน เป็นภรรยาของคนในตระกูลปึงนี้  และมีอำนาจมากต่อเบื้องหลังการตัดสินคดี หากผู้ใดต้องการจะเอาใจฮูหยินไม่ว่า จะเพื่อกรณีใดๆ ก็ตาม มักจะนิยมมอบคณะงิ้วให้เป็นกรรมสิทธิ์ 

       ดังนั้นจึงปรากฏว่า  ไป่ฮูหยินผู้เดียวมีคณะงิ้วในครอบครองถึง 80 คณะ  และเมื่อรวมเข้ากับคณะงิ้วของคนอื่นๆในตระกูลอีก จึงปรากฏว่า  ตระกูลปึงมีงิ้วแต้จิ๋วในครอบครองกว่า ร้อยคณะ พระนางซูสีไทเฮาทรงโปรดปรานงิ้วมากเช่นกัน เจ้านายเมืองแต้จิ๋ว จึงได้นำคณะงิ้วแต้จิ๋วไปถวายให้เป็นงิ้วประจำราชสำนัก ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้านายทั้งหลายในพระราชวังต่างหันมาชื่นชมงิ้วแต้จิ๋วมากขึ้น 
        งิ้วแต้จิ๋ว เจริญถึงขีดสุดในสมัยนี้ เจ้านาย และผู้ดีมีเงิน ต่างแข่งขันกันรับคณะงิ้วแต้จิ๋วที่มีชื่อเสียงไว้ในอุปการะ เมื่อไป่ฮูหยินสิ้นไป เป็นเหตุให้งิ้วในครอบครองเกือบร้อยคณะกระจัดกระจายขาดที่พึ่ง คณะงิ้วจะได้รับการว่าจ้างก็น้อยลง เพราะมีนักแสดงงิ้วอาชีพมากจนเกินไป อีกทั้งการสวรรคตต่อเนื่องกันของพระนางซูสีไทเฮา และพระเจ้ากวงสู ทางราชการได้สั่งให้งดการบันเทิงทุกชนิดทั้งประเทศเป็นเวลา 200 วัน พวกนักแสดงงิ้วต่างเปลี่ยนอาชีพ บ้างก็เดินทางออกต่างประเทศเพื่อแสวงโชค และหาอาชีพอื่นที่ตนถนัด (พรพรรณ จันทโรนานนท์ 2537 : 15-16)

งิ้วแต้จิ๋วกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนในประเทศจีน

       ในประเทศจีน งิ้วเป็นมหรสพที่นิยมกันมาก เมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวของทุกปี ซึ่งหมายถึง วันสิ้นสุดของปีด้วยนั้น ชาวนาว่างจากการทำนา พวกเขาจะจัดงานเฉลิมฉลองประจำปีครั้งยิ่งใหญ่เพื่อชดเชยความเหนื่อยยากที่ตรากตรำมาทั้งปี ในงานนี้ จะว่าจ้างงิ้วให้เล่นถวายเจ้าธรณี เป็นการตอบแทนคุณที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ชาวนานั้น  โรงงิ้วจะปลูกขึ้นกลางท้องนา และที่เสา 2 ข้างด้านหน้าโรงงิ้วจะมีมัดข้าวที่เก็บเกี่ยวมาจากนามัดติดอยู่ด้วย ถ้างิ้วที่ว่าจ้างมาเล่นถวายเจ้าประจำท้องที่  โรงงิ้วจะปลูกไว้หน้าศาล  หรือ  ใจกลางเมือง แล้วตั้งศาลชั่วคราว สำหรับเจ้า ขึ้นที่หน้าโรงงิ้วนั่นเอง เมื่อถึงวันงานเจ้าจะถูกเชิญออกแห่ไปตามท้องถนนในเมืองนั้น นัยว่า  เพื่อตรวจตราดูแลความสงบสุขของชาวบ้าน พิธีนี้เรียกว่า   อิ่วซิ้ง (逰神แปลว่า  แห่เจ้า นั่นเอง พิธีนี้จะมีปีละครั้งเท่านั้น (มักจัดกันในช่วงเวลาเดือน 10-11 ของจีน) เชื่อกันว่า  การไหว้เจ้าในช่วงนี้ได้กุศลแรงมาก
       ในเทศกาลดังกล่าว เพื่อให้งานสนุกมากยิ่งขึ้น บางแห่งจะจัดการแสดงเป็นชุดๆ  และมีการร้องเพลงประกอบไปด้วย เรียกว่า เองกอ (英歌)  หมายถึง การจัดชุดงิ้วเป็นชุดๆ ในขบวนแห่เจ้า  และการเชิดสิงโต เรียกว่า   บู๋ไซ () ประกอบไปด้วย 

        งิ้วที่มีเล่นในโอกาสต่างกัน ชื่อที่ใช้เรียก ก็แตกต่างกันไปด้วย เช่น งิ้ววันสารททิ้งกระจาดเรียกว่า  สิโกวหี่  (拖孤  / งิ้วเล่นในประเพณีทิ้งกระจาด สิโกว = วิญญาณเร่ร่อน)
          นอกจากนั้น ยังมีงิ้วที่ว่า จ้างมาเล่นในโอกาสพิเศษ อีกอย่าง เรียกว่า  ฮ่วกหี่ ( /  งิ้วลงทัณฑ์  ผู้ทำผิดจ้างงิ้วมาเล่นขออภัย) ในสังคมชาวนาโดยทั่วไป ทุกคนรักใคร่กลมเกลียวเหมือนพี่น้อง หากผู้มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไปทำสิ่งใดผิดพลาด และไม่ต้องการให้เรื่องถึงศาลนั้น  ในหมู่บ้านหนึ่งๆ ได้จัดบทลงโทษไว้ที่นับว่า  ถูกลงโทษสถานหนักที่สุดคือ ปรับให้ว่าจ้างงิ้วมาเล่นขออภัยในความผิดที่ตนได้ทำลงไปนั้น ในวันที่มีการแสดง ผู้ทำผิดจะถูกบังคับให้ยืนอยู่หน้าโรงพร้อมทั้งใบหน้าที่ปิดด้วยกระดาษขาวเขียนชื่อ - แซ่ ตัวเองบอกไว้อย่างชัดเจน
         สำหรับ งิ้วในงานฉลองวันเกิดของเจ้าประจำท้องถิ่นนั้นถือกันว่า  เป็นวันสำคัญรองลงมาจากฉลองตอบแทนบุญคุณเจ้าประจำปีเลยทีเดียว ชาวบ้านทุกหมู่บ้านถือว่า จะต้องจัดงานฉลองทุกหมู่บ้าน ทั้งนี้เพราะเชื่อกันว่า ถ้าจัดงานวันเกิดให้เจ้าพอใจ พวกตนจะได้รับความสมบูรณ์ และอายุยืนยาวด้วย


                                                        ที่มา : วีเกียรติ มารคแมน 2553 มหาวิทยาลัย มหิดล














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น