ชุดงิ้ว

หมวดชุดบรรดาศักดิ์

            การใช้งาน : ใช้กับราชวงศ์และผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นชุดพิธีการ
          รูปแบบ : คอกลม ดุมข้าง มีผ้าขาวต่อยาวจากชายแขนเสื้อ ชุดยาวถึงหลังเท้า ชุดหญิงสั้นกว่าชุดชาย
          ที่มา : พัฒนามาจากชุดในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ในสมัยหมิงจะเป็นชุดที่พระราชทานให้แก่ขุนนางผู้ทำคุณประโยชน์ถือเป็น ชุดพระราชทาน ต่อมาในสมัยชิงถือเป็น ชุดสิริมงคล ลวดลายมังกรกับลวดลายหม่าง ต่างกันเพียงแค่ หม่างมีสี่เล็บ มังกรมีห้าเล็บ ดังนั้นจึงเรียกชื่อนี้ว่า ชุดหม่าง เพราะบนชุดมักจะมีการปักตัวหม่างลงไป ชุดหม่างหรือชุดบรรดาศักดิ์ในการแสดงงิ้วก็พัฒนามาจากชุดในสองราชวงศ์นี้เอง
          จุดเด่น : ชุดนี้ถือได้ว่าได้รับเอาศิลปะเครื่องแต่งกายในยุคต่างๆมาไว้ในชุดได้อย่างงดงามอย่างยิ่ง แขนเสื้อที่กว้างแสดงถึงความสง่าผ่าเผย ลวดลายที่ปักก็มีนัยยะที่หลากหลาาย ชุดนี้เคลื่อนไหวสะดวก เหมาะแก่การแสดงอารมณ์ต่างๆ ด้วยตัวชุดมิได้ถูกรัดแนบร่างผู้สวมใส่ เพราะเข็มขัดที่ใส่อย่างหลวมๆเป็นไปเพื่อเพิ่มความสวยงามในฐานะเครื่องประดับเท่านั้น ทำให้ผู้สวมใส่เคลื่อนไหวและแสดงท่าทางได้อย่างอิสระ ไม่ถูกจำกัดด้วยชุด ชายแขนเสื้อที่ต่อยาวออกมาก็ยังสามารถนำมาใช้ในการแสดงอารมณ์ต่างๆ อันถือเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชุดงิ้วเหล่านี้
          วัตถุดิบ : ผ้าต่วน
          ลวดลาย : โดยมากจะเป็นรูปมังกร พระอาทิตย์ ภูเขา ก้อนเมฆ สิ่งของและสัญลักษณ์สิริมงคลต่างๆ โดยมังกรสื่อความหมายถึงความสูงศักดิ์ที่ต้องเคารพนับถือ สื่อถึงสถานภาพของประมุข
ลวดลายมังกรแบ่งออกเป็นหลายแบบ เช่น มังกรวง (วน) มังกรเคลื่อนไหว และมังกรใหญ่ แต่ละแบบมีความหมายต่างกัน ลวดลายบนชุดสื่อความหมายถึงอุปนิสัยและลักษณะตัวละคร
          สี : บนล่างห้าสีล้วนถูกนำมาใช้ โดยให้สอดคล้องกับลักษณะตัวละคร
          การปัก : มีสามแบบ คือแบบปักไหมสี ปักดิ้นเงินหรือทอง และปักไหมตัดขอบด้วยดิ้นเงินหรือทอง การเลือกใช้แบบใดก็ขึ้นอยู่กับตัวละครเช่นกัน
   
   หมวดชุดเกราะ
          การใช้งาน : ใช้นักรบ ขุนพล แม่ทัพทั้งสำหรับชายและหญิง
          รูปแบบ : คอกลม มีปกไหล่คลุมทับ ปลายแขนเสื้อรวบพอดีข้อมือ มีเกราะท้อง และเกราะขา ช่วงสะโพกด้านหลังมีแผ่นเกราะทั้งสองด้าน เกราะสำหรับผู้หญิงจะมีส่วนเกราะท้องที่เล็กกว่าของชาย ด้านล่างเป็นกระโปรงริ้ว
          ที่มา : พัฒนามาจากเกราะในสมัยราชวงศ์ชิง มีลักษณะบนเป็นเสื้อ ล่างเป็นกระโปรง
เป็นผ้าที่เย็บโดยบรรจุฝ้ายไว้ภายใน แล้วนำแผ่นโลหะมาประดับด้านนอก ซึ่งในความเป็นจริงไม่เหมาะแก่การออกรบ เพราะแท้จริงแล้วชุดนี้จะใช้สำหรับพิธีการ ต่างกับชุดเกราะในสมัยโบราณที่ต้องใช้งานรบจริง ที่ทำจากโลหะทั้งชุด พอมาอยู่บนเวทีก็ได้รับการตกแต่งและพัฒนาจนเป็นที่พบเห็นกันในปัจจุบัน
          จุดเด่น: มีลักษณะเป็นเสื้อยาวลงมาทั้งตัว ดูแล้วเหมือนเสื้อแต่ก็ไม่เหมือน จะว่าเหมือนเกราะก็ไม่เหมือน เพราะส่วนที่ทำเป็นเกราะก็ไม่ได้ทำให้แนบร่างกาย เกราะในการแสดงมีลักษณะหลวม แยกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ แล้วนำมาประกอบกัน ทำให้ดูพริ้วไหวยามออกท่าทาง นอกจากจะดูสวยงามแล้ว ยังดูสง่า และเพราะเกราะที่ใหญ่โตเกินความจริง จึงทำให้ผู้สวมใส่ดูน่าเกรงขามขึ้นมาทันที
          วัตถุดิบ : ผ้าต่วน
          ลวดลาย : ลายส่วนมากเป็นเกล็ดปลา เพราะมีลักษณะเหมือนเกล็ดบนชุดเกราะ
หน้าอกและไหล่มีตัวอักษรสิริมงคลที่แปลว่าอายุยืน เพื่ออวยพรให้รบกลับมาโดยปลอดภัย เกราะท้องของตัวละครชายมักเป็นรูปมังกร หญิงเป็นรูปหงส์และดอกโบตั๋น ตัวหน้าลายเพื่อแสดงถึงความน่าเกรงขาม มักจะทำเป็นรูปหัวเสือ
          สี : ตามบนล่างห้าสี มีการเลือกใช้สีชุดตามหลักเดียวกับชุดบรรดาศักดิ์ เช่น วาดหน้าดำใช้เกราะดำ วาดหน้าแดงใช้เกราะเขียว พระเอกวัยหนุ่มใช้เกราะขาว ฯลฯ
การปัก: ปักด้วยดิ้นทอง เพื่อยามโดนแสงไฟจะดูเหมือนแสงที่กระทบโลหะ ส่วนเกราะท้อง บ้างปักไหม บ้างปักดิ้นทองแล้วแซมด้วยไหม หากเป็นช่วงไว้ทุกข์ ใช้เกราะขาวที่ปักด้วยดิ้นเงิน

 
          
   หมวดชุดคลุม
          การใช้งาน : ใช้กับราชวงศ์และผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ยามปกติ ไม่เป็นทางการ
          รูปแบบ : ปกใหญ่ยาวลงมา ดุมข้าง มีผ้าขาวต่อยาวจากชายแขนเสื้อ ผ่าข้างทั้งสองด้านของชุด ชุดชายยาวถึงหลังเท้า ชุดหญิงยาวเลยเข่านิดหน่อย ปักลวดลายด้วยดิ้นหรือไหมสีต่างๆ
          ที่มา : พัฒนามาจากชุดพิธีการของสตรีชั้นสูงในสมัยราชวงศ์หมิง  แต่เดิมแขนเสื้อพอดีแขน ช่วงปกเป็นแถบพาดยาวลงมา จนถึงในสมัยปลายราชวงศ์หมิง แขนเสื้อมีการพัฒนาให้กว้างขึ้น แถบปกลดความยาวให้สั้นลง
          จุดเด่น : ชุดนี้ถือได้ว่าเป็นชุดที่สวยงามด้วยความเรียบง่าย ปกสองด้านที่ยาวลงมาเว้นให้เห็นช่องว่างช่วงคอและชุดด้านใน ช่วงหน้าอกพัฒนาจากการติดดุมมาเป็นชายผ้าสองเส้นเล็กๆที่พริ้วตามการเคลื่อนไหว เหมาะสมกับเป็นชุดที่จะสวมใส่ยามพักผ่อน ไม่เป็นทางการของบรรดาผู้มีอันจะกิน เพราะชุดนี้นอกจากจะดูสมสถานภาพตัวละครแล้ว ยังสะดวกแก่การเคลื่อนไหวและร่ายรำ
          วัตถุดิบ : ผ้าต่วนหรือผ้าซาติน ชนิดหลังค่อนข้างจะนุ่มเบา
          ลวดลาย : ฮ่องเต้ใช้ลายมังกร ฮองเฮาและพระสนมใช้หงส์ ไทเฮาใช้มังกรและหงส์
นอกเหนือจากนั้นดูที่ตัวละคร บ้างดอกไม้ บ้างตัวอักษรมงคล ฯลฯ
          สี : ราชวงศ์ใช้สีเหลือง งานมงคลใช้สีแดง ผู้สูงอายุใช้สีเขียวขี้ม้า นอกนั้นดูที่ความเหมาะสม
          การปัก : ชุดสีเหลืองปักด้วยไหม สีอื่นๆจะปักเป็นไหมล้วนหรือปักไหมแล้วตัดเส้นด้วยดิ้นทองก็ได้

 
   หมวดชุดลำลอง
          การใช้งาน: ใช้กับบัณฑิต จอมยุทธ์หรือชาวบ้านสามัญธรรมดา
          รูปแบบ: ปกเฉียง ดุมข้าง (สีข้างขวา) ชุดของผู้ชายยาวถึงเท้า ตัวเสื้อผ่าข้างทั้งสองด้าน แขนเสื้อกว้าง ต่อชายผ้าสีขาวยาว ชุดของผู้หญิง ดุมหน้า ปกตั้ง ชุดยาวเลยเข่าลงมาเล็กน้อย
          ที่มา : ชุดของชายพัฒนามาจากชุดลำลองในสมัยราชวงศ์หมิง ปกเฉียงแขนเสื้อกว้าง ชุดลักษณะนี้เป็นเอกลักษณ์ของชุดลำลองที่สืบทอดมานาน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังและซ่ง ส่วนของหญิงพัฒนามาจากรูปแบบเสื้อที่มีปกตั้งขึ้น ดุมหน้า ตัวสั้นค่อนข้างสั้น ชายไว้ในกระโปรง ในส่วนปกที่ตั้งขึ้นของชุด เพิ่งมานิยมกันมากในสมัยราชวงศ์หมิง เพื่อปกปิดส่วนคอให้ดูเรียบร้อย
          จุดเด่น : ชุดนี้นอกจะเป็นชุดลำลองแล้ว ยังมีสามารถใช้งานได้หลายอย่าง สามารถเป็นชุดที่สวมใส่ไว้ภายในก่อนสวมชุดบรรดาศักดิ์หรือชุดคลุมทับอีกที อีกทั้งตัวละครชายยังสามารถใส่โดยไม่ติดดุม เพื่อแสดงถึงอุปนิสัยที่เปิดเผย กล้าหาญ
          วัตถุดิบ : ผ้าต่วนใช้กับตัวละครหน้าลาย เพราะตัวผ้ามีน้ำหนัก เข้ากับลักษณะตัวละคร
นอกนั้นส่วนมากจะใช้ผ้าซาติน เพราะอ่อนเบา ดูเหมาะสมเป็นชุดลำลองอย่างแท้จริง
          ลวดลาย : มีการกำหนดเป็นแบบแผนไว้โดยยึดตามประเภทของตัวละคร
ตำแหน่งของลวดลาย บ้างปักเฉพาะมุมของชุด บ้างปักทั่วทั้งชุด หรืออาจไม่มีลายใดๆเลยก็ได้
          สี : ราชวงศ์ใช้สีเหลือง งานมงคลใช้สีแดง ผู้สูงอายุใช้สีเขียวขี้ม้า นอกนั้นดูที่ความเหมาะสม
          การปัก : จะปักเป็นไหมล้วนหรือปักไหมแล้วตัดเส้นด้วยดิ้นทองก็ได้

 
   หมวดชุดอื่นๆ
          นอกเหนือจากชุด ๔ ประเภท คือ ชุดบรรดาศักดิ์ ชุดคลุม ชุดเกราะ ชุดลำลอง
ชุดงิ้วที่เหลือทั้งหมดจะจัดเข้าหมวดชุดอื่นๆ เพราะยากแก่การจัดประเภทได้อย่างชัดเจน
ซึ่งชุดเหล่านี้อาจจะแบ่งจัดเก็บในหีบเสื้อผ้าของชุด ๔ ประเภทในหีบใดหีบหนึ่งก็ได้
          ชุดในหมวดนี้จะแบ่งออกเป็น ๔ ประเภทย่อย คือ ชุดแบบยาว ชุดแบบสั้น ชุดแบบเฉพาะ และชุดอุปกรณ์เสริม

(ngiew.com,๒๕๕๒)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น